กังวลปัญหาสงครามมะกัน-อิหร่านผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยความเชื่อมั่นหด

กังวลปัญหาสงครามมะกัน-อิหร่านผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยความเชื่อมั่นหด

ธอส.เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑลหดตัว มาจากความกังวลสงครามสหรัฐ -อิหร่าน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยมาจากผลกระทบค่าเงินบาท รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย กลัวต้นทุนปรับเพิ่มสูงขึ้น

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) เปิดเผยผลสำรวจ แบบสอบถาม “ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล” โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) ไตรมาส 4 ปี 2562 มีค่าเท่ากับ 44.4 จุด ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ซึ่งมีค่าดัชนีอยู่ที่ 48.2 จุด สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลใจของผู้ประกอบการฯ ที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวและปัญหาภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งมาตรการ LTV สถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งตัว สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน สงครามระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่าน ซึ่งมีผลต่อต้นทุนการก่อสร้างที่ปรับเพิ่มขึ้นในขณะที่กำลังซื้อลดลง

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC)

ความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันของผู้ประกอบการกลุ่ม Listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 44.6 จุด ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีค่าดัชนีอยู่ที่ 50.7 จุด โดยความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการกลุ่ม Listed Companies ลดลงต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 อีกครั้ง หลังจากที่มีค่าดัชนีต่ำกว่า 50 ในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ส่วนผู้ประกอบการกลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 44.1 จุด ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 44.5 จุด ซึ่งต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 จุด แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการทั้ง 2 กลุ่มมีความเชื่อมั่นลดลงและมีมุมมองในเชิงลบต่อสถานการณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในภาวะปัจจุบัน

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectations Index) ในไตรมาส 4 ปี 2562 มีค่าเท่ากับ 55.7 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 57.8 จุด แต่ยังคงสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 จุด สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความคาดหวังว่า มาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ประกาศใช้ในเดือน พ.ย. 62 จะช่วยให้มีการโอนกรรมสิทธิ์และรับรู้รายได้ได้มากขึ้น รวมทั้งคาดหวังว่าภาวะเศรษฐกิจจะมีการปรับตัวดีขึ้นตามการคาดการณ์ของหน่วยงานต่างๆ โดยผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 59.2 จุด ลดลงจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 60.7 จุด ในขณะที่ผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 50.4 จุด ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 53.5 จุด ซึ่งค่าดัชนีของทั้งสองกลุ่มยังคงสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 จุด

5อันดับทำเลทองราคาพุ่ง!“พระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศ”เพิ่ม53%

5อันดับทำเลทองราคาพุ่ง!“พระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศ”เพิ่ม53%

ธ.อาคารสงเคราะห์เผยผลสำรวจที่ดิน 5 ทำเลที่ปรับราคาเพิ่มขึ้นมากสุด มีที่อีกไหนบ้างไปเช็คเลย ..

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ทำการติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล รวม 6 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม โดยกำหนดให้ปี 2555 เป็นปีฐาน และจัดทำดัชนีเป็นรายไตรมาส

สำหรับ 5 อันดับทำเลที่มีการปรับราคาของที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในไตรมาส 2 ปี 2561 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2560 ได้แก่

1. เขตพระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 0

2.เขตจังหวัดนครปฐมมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.1
3. เขตราษฎร์บูรณะ-บางขุนเทียน-ทุ่งครุ-บางบอน-จอมทองมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ38.2
4. เขตจังหวัดสมุทรสาครมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.4
5. เขตกรุงเทพฯ ชั้นใน มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1
ซึ่งเป็นที่สังเกตว่าทำเลดังกล่าวข้างต้นมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจากไตรมาสก่อนหน้านี้สะท้อนให้เห็นราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นในเขตเมืองชั้นในได้ส่งผลให้เกิดการขยายตัวตามความต้องการที่ดินพื้นที่ชานเมือง ซึ่งส่งผลต่อการปรับราคาขึ้นของที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในเขตชานเมืองด้วย

เมื่อแยกตามทำเลเฉพาะที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่านพบว่า 5 อันดับแรกที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดได้แก่
1. BTS สายสุขุมวิทมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 26.8
2. สายสีส้ม (ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.5
3. สายสีแดงเข้ม (ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย) มีปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4
4. สายสีน้ำเงิน(ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ-หัวลำโพง-บางแค)มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.3
5. BTS สายสีลมมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.2

ซึ่งเป็นที่สังเกตว่า ทำเลในพื้นที่ดังกล่าวข้างต้นมีการปรับตัวขึ้นในทิศทางเดียวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ และเพื่อพักอาศัยใหม่ในพื้นที่ อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวยังต้องพิจารณาจากองค์ประกอบอื่นๆ ร่วมด้วย การใช้ข้อมูลดังกล่าวจึงต้องใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจ

ภาพประกอบข่าวจากแฟ้มข่าว

เครดิตข่าว และภาพ จาก http://www.siambusinessnews.com