กังวลปัญหาสงครามมะกัน-อิหร่านผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยความเชื่อมั่นหด

กังวลปัญหาสงครามมะกัน-อิหร่านผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยความเชื่อมั่นหด

ธอส.เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑลหดตัว มาจากความกังวลสงครามสหรัฐ -อิหร่าน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยมาจากผลกระทบค่าเงินบาท รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย กลัวต้นทุนปรับเพิ่มสูงขึ้น

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) เปิดเผยผลสำรวจ แบบสอบถาม “ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล” โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) ไตรมาส 4 ปี 2562 มีค่าเท่ากับ 44.4 จุด ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ซึ่งมีค่าดัชนีอยู่ที่ 48.2 จุด สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลใจของผู้ประกอบการฯ ที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวและปัญหาภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งมาตรการ LTV สถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งตัว สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน สงครามระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่าน ซึ่งมีผลต่อต้นทุนการก่อสร้างที่ปรับเพิ่มขึ้นในขณะที่กำลังซื้อลดลง

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC)

ความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันของผู้ประกอบการกลุ่ม Listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 44.6 จุด ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีค่าดัชนีอยู่ที่ 50.7 จุด โดยความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการกลุ่ม Listed Companies ลดลงต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 อีกครั้ง หลังจากที่มีค่าดัชนีต่ำกว่า 50 ในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ส่วนผู้ประกอบการกลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 44.1 จุด ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 44.5 จุด ซึ่งต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 จุด แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการทั้ง 2 กลุ่มมีความเชื่อมั่นลดลงและมีมุมมองในเชิงลบต่อสถานการณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในภาวะปัจจุบัน

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectations Index) ในไตรมาส 4 ปี 2562 มีค่าเท่ากับ 55.7 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 57.8 จุด แต่ยังคงสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 จุด สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความคาดหวังว่า มาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ประกาศใช้ในเดือน พ.ย. 62 จะช่วยให้มีการโอนกรรมสิทธิ์และรับรู้รายได้ได้มากขึ้น รวมทั้งคาดหวังว่าภาวะเศรษฐกิจจะมีการปรับตัวดีขึ้นตามการคาดการณ์ของหน่วยงานต่างๆ โดยผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 59.2 จุด ลดลงจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 60.7 จุด ในขณะที่ผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 50.4 จุด ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 53.5 จุด ซึ่งค่าดัชนีของทั้งสองกลุ่มยังคงสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 จุด

อยากมีบ้านดูเลย“โครงการสร้างบ้านสร้างอาชีพ” 3 แบงค์รัฐจับมือให้สินเชื่อ

อยากมีบ้านดูเลย“โครงการสร้างบ้านสร้างอาชีพ” 3 แบงค์รัฐจับมือให้สินเชื่อ

3 แบงค์รัฐร่วมอัดฉีดสินเชื่อหลายโปรแกรมสนใจไปดูรายละเอียด โดยมีเรื่อของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในโครงการรสร้างบ้านสร้างอาชีพ และสินเชื่ออื่นๆ อีกหลากหลายรูปแบบ

นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นประธานลงนามระหว่างผู้บริหาร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อความร่วมมือ “โครงการสร้างบ้านสร้างอาชีพ” เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสินเชื่อที่อยู่อาศัยในระบบได้ ด้วยการนำลูกค้า ธอส. มีบ้านอาศัยอยู่แล้ว แต่ต้องการสร้างอาชีพ สามารถขอสินเชื่อจากเอสเอ็มอีแบงก์ โดยมี บสย.ค้ำประกันสินเชื่อ ส่วนลูกค้า ธพว. และบสย. เมื่อประกอบอาชีพ กิจการเติบโตมีอาชีพมั่นคง ต้องการสร้าง ขยาย หรือต่อเติมที่อยู่อาศัย รวมถึงต้องการเป็นผู้ประกอบการแฟลต/อพาร์ทเม้นท์ หรือทำโครงการจัดสรร สามารถขอสินเชื่อกับ ธอส.ได้ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ นอกจากนี้ยังร่วมกันส่งเสริมพัฒนาทักษะ เพิ่มพูนความรู้ สร้างโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ในท้องถิ่นให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs เริ่มโครงการตั้งแต่ 3 เม.ย. – 28 ธ.ค.61

ด้านนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ธอส.พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ทั้งบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคลที่เป็นลูกค้าของ ธพว. และ บสย. ซึ่งต้องการขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ ขอสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการแฟลต/อพาร์ทเม้นท์ หรือขอสินเชื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย (Pre Finance) สามารถเลือกใช้สินเชื่อของ ธอส. รองรับนโยบาย “คนไทยมีบ้าน” พร้อมเปิดให้ยื่นกู้และทำนิติกรรมภายในวันที่ 28 ธันวาคม 2561 หรือภายใต้กรอบวงเงินที่ธนาคารกำหนด เช่น โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ วงเเงิน 20,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3.00% ต่อปี คงที่นาน 4 ปีแรก ปีที่ 5 จนถึงตลอดอายุสัญญากู้ หากกู้เพื่อซื้อ ปลูกสร้าง ต่อเติม ซ่อมแซม และไถ่ถอนจำนองที่อยู่อาศัย สำหรับลูกค้ารายย่อยรายได้สุทธิไม่เกิน 25,000 บาท วงเงินกู้ต่อราย ไม่เกิน 2 ล้านบาท

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวว่า เอสเอ็มอีแบงก์ พร้อมเปิดโอกาสให้ลูกค้า ธอส. ที่ต้องการปสร้างอาชีพ เพื่อใช้บ้านใอยู่อาศัย ค้ำประกัน เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว ดอกเบี้ยร้อยละ 3 โดยใช้ บสย. ค้ำประกันฟรี 4 ปีแรก เน้นกลุ่มกลุ่มท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง เกษตรแปรรูป ที่อาศัยอยู่ในชุมชนท่องเที่ยว สามารถขอสินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพียง 1% ปลอดชำระเงินต้น 3 ปีแรก เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีปัญหา ทางการเงินสามารถกู้ และสินเชื่อสร้างอาชีพวัยเก๋า ซึ่งผ่อนปรนเกณฑ์ให้ผู้สูงอายุเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้นตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป จนถึง 75 ปี เป็นต้น

ขณะที่นางนิภารัตน์ พิสิฐพิทยเสรี รองผู้จัดการทั่วไป สายงานบริหารทั่วไป รักษาการแทนผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกค้า ธพว. ที่ต้องการสินเชื่อบ้าน และลูกค้าสินเชื่อบ้านของ ธอส. สามารถเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อจาก 2 สถาบันการเงินดังกล่าว โดยยังมี บสย. เข้าไปช่วยเติมเต็มผู้ประกอบการที่ต้องการสินเชื่อธุรกิจ และขอสินเชื่อจาก ธพว. ด้วย โดยขณะนี้ บสย. มีโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน (PGS 6) ปรับปรุงใหม่ วงเงินสนับสนุนอีกกว่า 30,000 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 4 ปี