
“งานก่อสร้าง”คนไทยอยากให้ต่างด้าวทำได้แบบถูกกม.สำรวจโดยก.แรงงาน
นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำกฎหมายลำดับรองเพื่อกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ที่ออกตามมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 หลังจากที่ผ่านมากรมการจัดหางานได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาแล้วจำนวน 2 ครั้ง โดยในครั้งที่ 1 ได้จัดทำแบบสอบถามความคิดเห็นถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หน่วยงานราชการ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา สภาวิชาชีพ สมาคมหรือสมาพันธ์ ผู้ประกอบการค้า รวมจำนวน 145 หน่วยงาน สรุปผลความคิดเห็น 1. งานที่ควรยกเลิกเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำมากที่สุด ได้แก่ งานก่ออิฐ งานช่างไม้ หรืองานก่อสร้างอื่น 2. ขอให้แก้ไขชื่องานงานหรือลักษณะงานในอาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ได้แก่ งานบัญชี งานนายหน้า หรืองานตัวแทน งานวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา งานให้บริการทางกฎหมายหรืออรรถคดี 3. ขอให้เพิ่มงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ เช่น งานที่เกี่ยวกับความเป็นไทย หรือวัฒนธรรมของไทย รวมถึงกรณีคนต่างด้าวเป็นเจ้าของกิจการหรือนายจ้าง เป็นต้น

นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน
ส่วนการสำรวจครั้งที่ 2 ได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นการจัดทำกฎหมายลำดับรองเกี่ยวกับการกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ โดยเชิญผู้แทนหน่วยงานราชการ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาวิชาชีพ สมาคมหรือสมาพันธ์ ผู้ประกอบการค้า องค์กรนายจ้างและลูกจ้าง สถาบันการศึกษา องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรและสื่อมวลชน จำนวนทั้งสิ้น 172 คน โดยสรุปผลความคิดเห็นได้ดังนี้ 1. ขอให้ยกเลิกงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ได้แก่ งานกรรมกร งานก่อสร้าง งานก่ออิฐ งานช่างไม้ งานผลิตสินค้าในกิจการอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ใช้ทักษะฝีมือขั้นสูง เช่นงานทำรองเท้า งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย เป็นต้น และ งานขายของหน้าร้าน และควรกำหนดเงื่อนไขเพื่อไม่ให้คนต่างด้าวทำงานดังกล่าวโดยไม่มีนายจ้างหรือเจ้าของกิจการในการทำงานนั้นไว้ด้วย 2. ขอให้กำหนดงานที่ส่งเสริมภูมิปัญญาไทยและเอกลักษณ์ไทย เช่น งานแกะสลักไม้ งานทำเครื่องเขิน งานทำเครื่องดนตรีไทย งานทำเครื่องถม เครื่องทอง เครื่องเงิน หรือเครื่องนาก งานมัคคุเทศก์หรืองานจัดนำเที่ยว เป็นต้น เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ แต่ควรมีข้อยกเว้นให้คนต่างด้าวสามารถทำได้ ถ้าเป็นลูกจ้างหรือพนักงานในกิจการดังกล่าว และไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับการส่งเสริมภูมิปัญญาไทยและเอกลักษณ์ไทย 3. งานในวิชาชีพ เช่น วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี งานให้บริการทางกฎหมาย หรืออรรถคดี เป็นต้น ยังคงห้ามคนต่างด้าวทำ 4. งานที่ควรห้ามคนต่างด้าวทำเพิ่มเติม ได้แก่ งานนวดไทย งานรักษาความปลอดภัย และงานนายแบบหรือนางแบบที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
จากการพิจารณารับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา กรมการจัดหางานเห็นว่าความคิดเห็นส่วนใหญ่ต้องการให้ยกเลิกงานต่อไปนี้ คือ 1. งานกรรมกร 2. งานกสิกรรม งานเลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรืองานประมง 3. งานก่ออิฐ งานช่างไม้และงานก่อสร้างอื่น เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ซึ่งคนไทยมีการศึกษาสูงขึ้น ทำให้ขาดแคลนแรงงานไทยทำงานดังกล่าว ส่วนงานขายของหน้าร้าน และงานที่ต้องการแรงงานจำนวนมากในภาคการผลิตอุตสาหกรรม เช่น งานทำที่นอน งานทำมีด งานทำรองเท้า งานทำหมวก งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย เป็นต้น ซึ่งไม่ต้องใช้การฝึกอบรมความรู้และไม่ใช่งานที่แสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยแต่อย่างใด กรมการจัดหางานยังเห็นว่าคนไทยยังสามารถทำงานหรือประกอบอาชีพได้ จึงเห็นว่ายังมีประเด็นที่ควรรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อให้การจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามความในมาตรา 7 เป็นไปอย่างรอบคอบ และสอดคล้องกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าวในประเทศไทย
ทั้งนี้ความคิดเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในวันนี้ จะได้นำไปประกอบการพิจารณากำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานได้พิจารณาก่อนจัดทำเป็นประกาศกระทรวงแรงงานต่อไป
เครดิตภาพและข่าวจาก http://www.siambusinessnews.com